เหรียญที่ระลึก พระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ ครบ 80ปี กรมธนารักษ์ ปี2555 PCGS MS69

6,000 ฿

เหรียญที่ระลึก พระคลัง ในพระลังมหาสมบัติ ครบ 80ปี กรมธนารักษ์ ปี2555 PCGS MS69

เหรียญที่ระลึกพระคลังฯ ได้ผ่าน ‘พิธีเทวาภิเษก’ ณ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕

สภาพไม่ผ่านการใช้งาน  ในตลับเกรด PCGS  ส่งเหรียญไปรับรองต่างประเทศค่ายที่ยอมรับทั่วโลก เกรดสูงสุดจะอยู่ที่ MS 70  เหรียญนี้ได้คะแนน  MS 69 ถือว่าสภาพสวยสมบูรณ์ เกรดสูงสุด เรียกว่าได้แชมป์เลยที่เดียว  ท่านที่สนใจเก็บแบบนี้ เก็บยาวๆได้เลยครับ อากาศไม่เข้า คงความสภาพเหรียญให้สมบูรณ์สวยงามตลอดไป 

สินค้าหมดแล้ว

คำอธิบาย

เหรียญที่ระลึก พระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ ครบ 80ปี กรมธนารักษ์ ปี2555

เนื้อเงิน ร้อยละ  95

น้ำหนัก  15 กรัม

ความสูง 30 มิลลิเมตร

ประเภท เงินรมดำพ่นทรายพิเศษ

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเทวรูปขึ้นประดิษฐานไว้ในอาคารที่ตั้งของพระคลังมหาสมบัติ หรือที่เรียกว่า “พระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ” โดยมีลักษณะเป็นเทวดาหล่อยืน ทรงเครื่องกษัตริยาธิราช สวมมงกุฎยอดชัย (หรือพระมหามงกุฎ) พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ อันเป็นลักษณะของผู้ปกป้องคุ้มครอง ส่วนพระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัว อันเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ความเจริญงอกงามและการบูชา ประดิษฐานอยู่ภายในซุ้มเรือนแก้วแบบเก๋งจีนทำด้วยไม้จันทน์ทาชาดสีแดง มีประตูเป็นบานเฟี้ยมถอดได้ แกะสลักลวดลายแบบจีน ลงรักปิดทอง

 

                                                   พระคลัง และ พระสยามเทวาธิราช

สันนิษฐานกันว่าการสร้างพระคลัง มีนัยยะคล้ายกับการสร้างพระสยามเทวาธิราช ทั้งในด้านรูปลักษณะในท่าที่ทรงยืน ฉลองพระองค์ด้วยเครื่องทรงแบบกษัตริย์ สวมมงกุฎยอดชัย ซึ่งหากจะเปรียบกับตัวโขนในมหากาพย์รามายณะหรือรามเกียรติ์แล้ว ตัวพระซึ่งเป็นเชื้อสายกษัตริย์ คือ ‘พระราม’ หรือแม้แต่ ‘พระลักษณ์’ ก็สวม ‘มงกุฎยอดชัย’ ซึ่งมีลักษณะคล้ายพระมหามงกุฎเช่นกัน นอกจากนี้ ยังเปรียบเสมือนเทพยดาศักดิ์สิทธิ์ที่คอยอภิบาลรักษา โดยองค์พระสยามเทวาธิราชเป็นดั่งเทพที่คอยปกป้องบ้านเมือง ส่วน “พระคลัง” ดุจดังเทพผู้พิทักษ์รักษาทรัพย์สินมีค่าในพระคลังมหาสมบัติ

 

สำหรับนัยยะของดอกบัวที่อยู่ในพระหัตถ์ซ้ายของ “พระคลัง”นั้น กล่าวกันว่า ‘ดอกบัว’ เป็นดอกไม้ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต ความเชื่อทางศาสนาพุทธ และเทพเจ้าของฮินดู ซึ่งมีการนำมาใช้ในพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ เพราะถือเป็นสิริมงคล นอกจากนี้ ‘ดอกบัว’ ยังเป็นต้นเค้าของพุทธศิลป์ไทย เห็นได้จากการนำรูปทรงดอกบัวมาใช้เป็นองค์ประกอบเชิงศิลป์ซึ่งนิยมทำเป็นรูปรองรับพระพุทธรูป พระสถูปเจดีย์ รูปบัวหัวเสาในอาคารสถาปัตยกรรมไทย เทวรูป หรือรูปเคารพที่ทรงถือดอกบัว อาทิ เทวรูปพระแม่ลักษมี ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความอุดมสมบูรณ์ รวมทั้งการนำรูปดอกบัวไปประทับบนเงินตรา เช่น รูปกระต่ายบนดอกบัวในเหรียญเงินทวารวดี รูปดอกบัวบนเงินพดด้วงสมัยอยุธยา และรูปบัวอุณาโลมบนเงินพดด้วงสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ รวมถึงรูปแบบของเครื่องอิสริยยศหมวดเครื่องอุปโภค เช่น พานพระศรี หรือพานหมาก ตลอดจนรูปองค์ประกอบบนดวงตราและดาราของเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทย ฯลฯ

ความเชื่อเกี่ยวกับ “พระคลัง” ว่าเปรียบดั่งเทพผู้พิทักษ์รักษาทรัพย์สินมีค่าในพระคลังมหาสมบัติ เป็นความเชื่อถือที่มีมาช้านาน เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การเคารพบูชา และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของข้าทูลละอองธุลีพระบาทที่รับราชการในพระคลังมหาสมบัตินับจากรุ่นสู่รุ่นสืบต่อกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จาก การที่ชาวกรมธนารักษ์ยังคงสืบทอดประเพณี “ถวายเครื่องสังเวย” (แปลว่า ให้อาหาร ให้เครื่องกิน ให้เครื่อง เซ่นไหว้) เทวรูปพระคลัง หรือที่ชาวกรมธนารักษ์เรียกกันว่า “พิธีไหว้เจ้าพ่อคลัง” ขึ้นทุกปีอย่างสม่ำเสมอ มิได้ขาด เพื่อขอให้ความเป็นสิริมงคลเกิดขึ้นแก่ผู้สักการบูชา และเป็นสิ่งที่ทุกคนได้พร้อมใจกันกระทำด้วยจิตใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งศรัทธาที่มีต่อ “เทวรูปพระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ” อย่างไม่เสื่อมคลาย

ลักษณะลวดลาย :

ด้านหน้า กลางเหรียญเป็นเทวรูปพระคลังเต็มองค์ ประทับยืนบนแท่น ทรงเครื่องกษัตริยาธิราช สวมมงกุฎยอดชัย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์  พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัว เบื้องหลังเทวรูปพระคลังเป็นพระวิมานเก๋งจีนที่องค์เทวรูปพระคลังสถิตอยู่

ด้านหลัง กลางเหรียญมีตราสัญลักษณ์ของกรมธนารักษ์ เบื้องบนมีข้อความว่า “พระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ” เบื้องล่างมีข้อความว่า “ครบ ๘๐ ปี กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง พ.ศ. ๒๕๕๕” ตามลำดับ ภายในชิดขอบเหรียญโดยรอบประดับด้วยลายไทย สะท้อนถึงศิลปะและความเป็นไทย เมื่อดูโดย   องค์รวมทั้งหมดของเหรียญจะสมบูรณ์ทุกส่วนทั้งมิติของความงามในงานศิลปะ ความศักดิ์ ความสงบ และความศรัทธา

ในส่วนของการผลิตเหรียญจะมีกรรมวิธีการทำที่ละเอียดทุกขั้นตอน โดยเฉพาะในขั้นตอนการผลิตเหรียญขัดเงา เหรียญพ่นทรายรมดำพิเศษ ซึ่งจะผลิตโดยกรรมวิธีทำด้วยมือทุกเหรียญเพื่อให้เหรียญออกมาดูมีมิติในทุกๆ ด้าน และที่พิเศษอีกประการคือ เหรียญที่ระลึกพระคลังฯ ได้ผ่าน ‘พิธีเทวาภิเษก’ ณ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕

 

อ้างอิง 

เอกสารใบสั่งจองเหรียญที่ระลึกพระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ โดยกรมธนารักษ์.

เทวรูปพระคลัง ในพระคลังมหาสมบัติ. สารสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน ฉบับที่ ๑๙ ประจำเดือนตุลาคม ๒๕๕๓ – มีนาคม ๒๕๕๔.