คำอธิบาย
- พระพุทธโสธร
- พระพุทธชินราช
- พระพุทธชินสีห์
- พระมงคลบพิตร
- พระนิรันตราย
โดยเหรียญชุดนี้เป็นเนื้อเงิน ด้านหน้าของทุกเหรียญจะเป็นพระบรมรูปรัชกาลที่ 9 ส่วนด้านหลังเป็นพระพุทธรูป 5 องค์ของแต่ละเหรียญตามที่กล่าวไว้ด้านบน
ด้านหน้าเหรียญ พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ผินพระพักตร์ไปด้านซ้าย ด้านหลังเหรียญ ประดิษฐานพระบูชาองค์สำคัญของไทย
เหรียญที่ระลึกพระพุทธปัญจภาคี สร้างถวายในพิธีกาญจนาภิเษก
เนื่องในมหามงคลวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2539 กรมธนารักษ์ได้รับมอบหมายให้จัดสร้างเหรียญพระพุทธรูปที่สำคัญของประเทศรวม 5 องค์ ประกอบด้วย พระพุทธโสธร พระพุทธชินสีห์ พระพุทธชินราช พระมงคลบพิตร และพระนิรันตราย เพื่อเป็นการเผยแพร่พระเกียรติคุณ และบุญญาธิการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ให้คนไทยและพุทธศาสนิกชนทั่วไปได้มีไว้เคารพสักการะบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว โดยจัดสร้างขึ้น 3 ประเภท คือ ทองคำ เงิน และทองแดง โดยจะนำรายได้จากการจำหน่ายภายหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว ขึ้นทูลเกล้าถวายโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย
พระพุทธโสธร เป็นพระพุทธรูปบางสมาธิ คือ นั่งขัดสมาธิราบพระเนตรเนื้อแบบสมัยลานช้าง หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “พระลาว” หน้าตักกว้าง 3 ศอก 5 นิ้ว เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ เป็นพระที่ทรงอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ ไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอนว่าใครเป็นผู้จัดสร้าง พระพุทธโสธรองค์นี้เล่าสืบต่อกันมาว่ามีพระพี่น้องกัน 3 องค์ ล่องลอยตามแม่น้ำมาจากทิศเหนือมาผุดขึ้นที่แม่น้ำบางปะกง ตำบลสัมปทวน แสดงปาฏิหาริย์ลอยตามน้ำและทวนกระแสน้ำได้ทั้ง 3 องค์ ประชาชนจึงได้ช่วยกันเอาเชือกลงไปผูกมัดที่องค์พระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ แต่ก็ไม่ขึ้น สำหรับพระพุทธรูปหล่อองค์กลาง คือ หลวงพ่อโสธร ได้ลอยตามน้ำมาผุดขึ้นที่ท่าวัดโสธร ขณะนั้นได้มีอาจารย์ผู้หนึ่งมีความรู้ทางไสยศาสตร์ ทำพิธีบวงสรวงแล้วอารธนาอัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ในวิหารวัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา และจัดให้มีการฉลองสมโภชเป็นเทศกาลประจำปี
พระพุทธชินสีห์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะเชียงแสนและสุโขทัยผสมกัน จัดสร้างในสมัยพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก เป็นพระพุทธรูปหล่อหน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว สูงตั้งแต่พระที่นั่งถึงพระจุฬา 6 ศอก 1 คืบ 10 นิ้ว พระรัศมี 1 ศอก พระพุทธรูปปางนี้อยู่ในพระอาริยบถนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางที่พระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นธรณี ปางนี้เริ่มนิยมทำรัศมีบนพระเศียร เดิมประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวงทางทิศเหนือวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาเมื่อพุทธศักราช 2372 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพย์ ได้โปรดให้อัญเชิญพระพุทธชินสีห์มาประดิษฐานไว้ที่วัดบวรนิเวศวิหาร
พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปปางเรือนแก้ว หน้าตักกว้าง 5 ศอก 1 คืบ 5 นิ้วเศษ เป็นพระพุทธรูปสำคัญและสวยงามมากองค์หนึ่งมาตั้งแต่กรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สร้างในสมัยพระมหาธรรมมาธิราชลิไท สร้างโดยชาวเมืองเชียงแสน ชาวเมืองสวรรคโลก และชาวเมืองสุโขทัย ช่วยกันหล่อพระพุทธรูปขึ้น 3 องค์ คือ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศาสดา เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 4 ปีจอ พุทธศักราช 1499 แต่หล่อเสร็จเพียง 2 องค์ คือพระพุทธชินสีห์และพระศาสดา ส่วนพระพุทธชินราชนั้นหล่อไม่เสร็จ กล่าวคือ เมื่อเททองลงไปแล้วกลับแข็ง ทองไม่เดินตามปกติ จึงได้ทำพิธีปั้นหุ่นใหม่อีกครั้ง พระพุทธรูปจึงได้สำเร็จรูปตามความปรารถนา เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 8 ปีกุน พุทธศักราช 1500 และได้อาราธนาอัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลกแต่นั้นมา
พระมงคลบพิตร เป็นพระพุทธรูปปางนั่งสมาธิ จัดสร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นราวแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ก่อด้วยอิฐเป็นแกน ข้างนอกหุ้มด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 4 วาเศษ นับเป็นพระพุทธรูปที่ใหญ่ที่สุด และมีพระพุทธลักษณะงดงามเป็นสง่ามากองค์หนึ่งในประเทศไทย ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในพระวิหารข้างกำแพงวัดพระศรีสรรเพชรด้านใต้ เขตโบราณสถานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พระนิรันตราย เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้าง 5 นิ้วครึ่ง เป็นพุทธศิลปะที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชศรัทธามาก เนื่องจากมีความศักดิ์สิทธิ์ มหัศจรรย์แคล้วคลาดพ้นอันตรายไปถึง 2 คราว มีพุทธลักษณะพิเศษ คือที่พระเศียรไม่มีพระเมาลี แต่ต่อด้วยพระรัศมีเลย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นสำหรับพระราชทานวัดธรรมยุตที่เป็นพระอารามหลวงวัดละองค์ ได้แก่ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดราชประดิษฐ์ และถวายพระนามว่า “พระนิรันตราย” นับเป็นพุทธศิลป์แบบหนึ่งของยุครัตนโกสินทร์
พิธีพุทธมหาชัยมังคลาภิเษกเหรียญที่ระลึกพระพุทธปัญจภาคี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯ แทนพระองค์ ทรงประกอบพิธีพุทธมหาชัยมังคลาภิเษกเหรียญที่ระลึกพระพุทธปัญจภาคีในวันที่ 20 มีนาคม 2540 ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) กรุงเทพมหานคร
โลหะ: เงิน